วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ตำนาน พระธาตุดอยสุเทพ

     ตามประวัติได้แจ้งว่า เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 19 พระเจ้ากือนา ได้ทรงสร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหารไว้บนยอด เขาดอยสุเทพ โดยได้นำเอาพระบรมธาตุ ของพระพุทธเจ้า ที่พระมหาสวามี นำมาจากเมืองปางจา จังหวัดสุโขทัย บรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์พระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร นอกจากจะเป็นวัดที่มีความสำคัญมากแล้ว ยังเป็นพระอารามหลวง 1 ใน 4 ของจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย (พระอารามหลวงหมายถึง วัดที่อยู่ในความอุปถัมภ์ของพระเจาอยู่หัวฯ) ชาวเชียงใหม่เคารพนับถือพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหารมากเสมือนหนึ่งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่มาแต่โบราณกาล

          กล่าวถึงราชวงศ์มังราย เป็นวงศ์ของกษัตริย์ที่ทรงปกครองเมืองเชียงใหม่มาตามลำดับ ซึ่งพญามังรายได้สร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1839 ต่อมาได้มีกษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ ผู้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามาตามลำดับ ดังนี้

      1. พญาเม็งรายมหาราช พ.ศ.1804 ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่
      2. พญามังคราม พ.ศ.1854 3. พญาแสนพู พ.ศ.1868
      4. พญาคำฟู พ.ศ.1877
      5. พญาผายู พ.ศ.1879
      6. พญากือนา พ.ศ.1898 ผู้สร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
      7. พญาแสนเมืองมา พ.ศ.1928
      8. พญาสามฝั่งแกน พ.ศ.1945
      9. พญาติโลกราช พ.ศ.1984 ผู้ทำนุบำรุงวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
      10. พญายอดเชียงราย พ.ศ.2030
      11 . พญาเมืองแก้ว พ.ศ.2038
      12. พญาเมืองเกษกล้า พ.ศ.2068 ผู้ซ่อมแซมวัดพระธาตุ ดอยสุเทพราชวรวิหารครั้งใหญ่
      13. ท้าวชายคำ พ.ศ.2081 ผู้ก่อ สร้างเพิ่มเติมในวัดพระธาตุ ดอยสุเทพราชวรวิหาร
      14. พญาเมืองเกษกล้า พ.ศ.2086
      15. พระนางจิรประภา พ.ศ.2088
      16. พญูาอุปเยาว์ พ.ศ.2089
      17. ท้าวแม่กุ พ.ศ.2094
      18. พระนางวิสุทธเทวี พ.ศ.2107-2121
หมายเหตุ

      พญาเมืองเกษเกล้า ปกครอง 2 สมัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2121 พม่าได้เลิกแต่งตั้งกษัตริย์ราชวงศ์เม็งราย เพราะต้องไปขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ
การบูรณะครั้งแรก

        วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร สร้างโดยพระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์เม็งราย ในปี พ.ศ.1916 (ค.ศ.1373) วัดนี้ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีจากกษัตริย์ไนราชวงศ์เม็งรายทุกพระองค์ ในแต่ละสมัยมีการซ่อมแซมอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเหตุที่พระเจดีย์มีอายุถึง 15 ปี สมควรที่จะทำการสร้าง และปรับปรุงเสียใหม่ ดังนั้นในปี พ.ศ.2068 (ค.ศ.1525) พระเจ้าเกษเกล้า กษัตริย์องค์ที่ 12 แห่งราชวงศ์เม็งราย ได้ไปนิมนต์พระเถระรูปหนึ่งอยู่ที่วัดอโศการาม (วัดกู่มะลัก) จังหวัดลำพูนซึ่งเป็นพระที่ประชาชนเคารพนับถือมากองค์หนึ่ง ชื่อว่าพระมหาญาณมงคลโพธิ มาเป็นประธานในการบูรณะ ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์โดยการขยายพระเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมคือจากเดิม สูง 5 วา กว้าง 1-43 วา เป็นสูง 11 วา กว้าง 6 วา ซึ่งเป็นขนาดที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

การก่อสร้างเพิ่มเติม

           นับจากที่ได้บูรณะครั้งแรกมาได้ 13 ปี คือ พ.ศ.2081 (ค.ศ.1538) พระเจ้าชายคำ พระโอรสของพระเจ้าเกษเกล้า ได้ขึ้นครองราชย์เมืองเชียงใหม่ ได้ไปนิมนต์พระมหาญาณมงคลโพธิองค์เดิมมาเป็นประธานในการก่อสร้างอีกครั้งหนึ่ง โดยพระองค์ได้พระราชทานทองคำหนักประมาณ 1,700 บาท ให้ช่างทำเป็นแผ่นทองคำจังโกปิดทั่วองค์พระเจดีย์ และพระองค์ยังได้พระราชทานเงินสดอีก 6,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างพระวิหารด้านหน้า และด้านหลัง ศาลาระเบียงรอบองค์พระเจดีย์ทั้ง 4 ด้านและจิตรกรรมฝาผนังทั้งหมด ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวันนี้


          ในปี พ.ศ.2100 (ค.ศ.1557) พระมหาญาณมงคลโพธิ แม้ท่านจะมีอายุมากแล้ว แต่ท่านก็ยังแข็งแรงดีและพร้อมที่จะทำงาน ท่านได้เป็นประธานก่อสร้างบันไดพญานาค ขนาดความยาว 306 ขั้น จากล่างถึงบน ท่านทำหน้าที่ควบคมงานก่อสร้างด้วยตนเอง ตัวพญานาคทั้ง 2 ข้าง ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ตกแต่งอย่างปราณีต พญานาคแต่ละตัวมี 7 หัว บันไดนาคนี้สร้างมานานกว่า 400ปี มีการชำรุดไปบ้างแต่ก็ได้รับการบำรุงซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลา จนทำให้พวกเราทุกคนได้เห็นบันไดนาคอยู่ในสภาพเดิมตราบเท่าทุกวันนี้

 ทางเดินขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ

        ในสมัยก่อน การขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพนั้น เป็นเรื่องที่ยากลำบากเหลือเกิน เพราะไม่มีถนนสะดวกสบายเหมือนปัจจุบัน ทางเดินก็แคบๆ และ ไม่ราบเรียบ ต้องผ่านป่าเขาลำเนาไพร และปีนเขาต้องใช้เวลายาวนานถึง 5ชั่วโมงกว่า จนมีคำกล่าวขานกันทั่วไปในสมัยนั้นว่า ถ้าไม่มีพลังบุญและศรัทธาเลื่อมใสจริงๆ ก็จะไม่มีโอกาสได้กราบไหว้พระธาตุดอยสุเทพ
          ในปี พ.ศ.2477 (ค.ศ.1934) ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย มาจากวัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน เป็นผู้เริ่มดำเนินการสร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ โดยมีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้น เป็นผู้เริ่มขุดดินด้วยจอบเป็นปฐมฤกษ์ ตรงที่หน้าสวนสัตว์เชียงใหม่ปัจจุบัน ใกล้ๆ กับบริเวณน้ำตกห้วยแก้ว โดยเริ่มสร้างวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477

ฝูงชนอาสาร่วมสร้างถนน

         เมื่อข่าวการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพได้แพร่สะพัดไปยังจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ ชาวพุทธผู้เลื่อมใสในครูบาศรีวิชัย ต่างทยอยกันมาจากทั่วสารทิศจนเต็มบริเวณเชิงดอยหมด เพื่อมาร่วมสละแรงงานช่วยสร้างถนน โดยไม่มีค่าจ้างใดๆ ทั้งสิ้น วันๆ หนึ่งจะมีประชาชนมาร่วมสร้างถนนประมาณ 3-4 พันคนจากทั่วทุกจังหวัดภาคเหนือ รวมไปถึงอุตรดิตถ์-พิษณุโลก ปริมาณคนงานที่มาช่วยมีมากเกินความต้องการครูบาศรีวิชัยจึงได้กำหนดให้สร้างถนนหมู่บ้านละ 10 วาเท่านั้น และต่อมายังได้ลดลงอีกเหลือประมาณหมู่บ้านละ 2 วา 3 วา เพราะมีคนมาขอร่วมแรงงานสร้างมากขึ้นเรื่อยๆ

         นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากที่การสร้างถนนบนภูเขายาวถึง 11 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 5 เดือนกับอีก 22 วัน ทั้งๆ ที่อุปกรณ์การสร้างทางมี เพียงจอบ และเสียม เท่านั้น อุปกรณ์ทันสมัย เช่นในปัจจุบันยังไม่มีพิธีเปิดใช้ถนนใหม่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2478 หรือ ค.ศ.1935 โดยท่านครูบาศรีวิชัย เป็นคนแรกที่นั่งรถยนต์ขึ้นดอยสุเทพตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย

          ครูบาศรีวิชัย เป็นพระเถระที่ชาวล้านนาไทยให้ความเคารพนับถือมากที่สุด ทุกวันนี้พวกเราจะสามารถเดินทางขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพได้อย่างสะดวกสบายดี เมื่อพวกเราขึ้นไปจะผ่านอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงเขาข้างทางด้านล่างนั้น อย่าลืมหยุดนมัสการท่าน หรืออย่างน้อยก็หยุดสงบใจระลึกถึงพระคุณของท่านครูบาเจ้า เพราะท่านเป็นผู้ที่เสียสละอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะชาวล้านนาไทย รวมถึงพระพุทธศาสนาอีกด้าย

 
รายนามเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ

        นับเป็นเวลาหกร้อยกว่าปีมาแล้วที่พระเจ้ากือนาได้ทรงสร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร มาเมื่อปี พ.ศ.1916 พระธาตุดอยสุเทพได้ชำรุดและซ่อมแซมมาหลายครั้งแล้ว เจ้าผู้ปกครองนครเชียงใหม่ ในราชวงศ์เม็งรายทุกพระองค์ต่างก็ให้ความสนใจและเอาใจใส่ต่อการทำนุบำรุงพระธาตุดอยสุเทพด้วยดีมาตลอดหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ.2475 เจ้าแก้วนวรัฐ จึงได้มอบสิทธิอำนาจต่าง ๆ ให้แก่ทางคณะสงฆ์ปกครองดูแลพระธาตุดอยสุเทพโดยตนเองในชั้นแรกได้ไปนิมนต์ครูบาเถิ้ม วัดแสนฝาง มาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ องค์แรกเพื่อดูแลและรักษาพระเจดีย์แทนพระองค์จากนั้นก็มีการเปลี่ยนเจ้าอาวาสมาตลอดรวม 7 รูปแล้วดังนี้

     1. ครูบาเถิ้ม จากวัดแสนฝาง
     2. ครูบาปัญญา จากวัดสันป่าขุย อำเภอสันกำแพง
     3. พระครูอนุสรณ์ จากวัดหมื่นล้าน
     4. พระปลัดคำใส จากวัดดอยสุเทพราชวรวิหาร
     5. พระครูญาณลังกา จากวัดทุงยู
     6. พระครูสุวรรณธรรมธาดา จากวัดเมืองมาง
     7. พระเทพวรสิทธาจารย์ วัดดอยสุเทพราชวรวิหาร (รูปปัจจุบัน)

ต้นพระศรีมหาโพธิ์อินเดีย

         ในปี พ.ศ.2484 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ส่งผู้แทนพิเศษไปอินเดีย โดยมี ฯพณฯ ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อขอให้รัฐบาลอินเดีย ช่วยแบ่งกิ่งตอนต้นโพธิ์ให้แก่ประเทศไทย และรัฐบาลอินเดียก็ได้รีบจัดส่งต้นโพธิ มาให้ประเทศไทยทางเครื่องบิน จำนวน 5 ต้น โดยรัฐบาลได้แบ่งต้นโพธิปลูกที่วัดพระศรีมหาธาตุกรุงเทพมหานคร จำนวน 2 ต้น ส่วนที่เหลืออีก 3 ต้น ได้จัดส่งไปปลูกที่ต่างจังหวัด ราม 3 แห่ง คือ 1. จังหวัดนครศรีธรรมราช ปลูกที่วัดพระมหาธาตุ 2. จังหวัดนครพนม ปลูกที่วัดพระธาตุพนม 3. จังหวัดเชียงใหม่ ปลูกที่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร พิธีปลูกต้นโพธิ์ในแต่ละจังหวัดนั้น มีสมเด็จมหาวีรวงศ์ สังฆนายกเป็นประธานในพิธีทุกครั้ง

ต้นโพธิ์อินเดียถึงจังหวัดเชียงใหม่

          ต้นโพธิ์ต้นที่ 5 ถูกส่งมาทางรถไฟ ถึงสถานีเชียงใหม่ วันที่ 2 กรกฎาคม 2486 เวลาบ่าย 3 โมง มีประชาชนจากทั่วสารทิศ มาต้อนรับต้นโพธิ์เต็มสถานีรถไฟหมด ขบวนต้อนรับได้เคลื่อนจากสถานีรถไฟไปยังวัดพระสิงห์ผ่านถนนเจริญเมือง-ถนนท่าแพและราชดำเนินตลอดเส้นทางได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลาม ต้นโพธิ์ได้มาพักฉลองสมโภชที่วัดพระสิงห์เป็นเวลา 5 วัน 5 คืน
          เนื่องจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ ที่พุทธคยาอินเดีย ชาวพุทธจึงเคารพนับถือต้นโพธิ์และถือว่าเป็นต้นไม้ที่สำคัญและประเสริฐยิ่ง เส้นทางขบวนผ่านจากสถานีรถไฟถึงวัดพระสิงห์ ซึ่งยาวถึง 4 กิโลเมตรกว่า ประชาชนต่างพร้อมใจกันมาต้อนรับและกราบไหว้ต้นโพธิ์อย่างเนืองแน่น เต็มท้องถนนมากเป็นประวัติการณ์ งานสมโภชต้นโพธิ์จัดขึ้นที่วัดพระสิงห์รวม 5 คืน จนถึง วันที่ 7 ก.ค.86 ต้นโพธิ์ก็ถูกนำขึ้นรถยนต์ มุ่งหน้าขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เวลา 9.30 น. เพื่อทำพิธีปลูกที่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ซึ่งยังคงมีให้เห็นอยู่ตราบเท่าทุกวัน

     หลังจากพระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงสยามพระองค์ได้เสด็จประพาสและเยี่ยมเยือนประชาชนทางหัวเมืองฝ่ายเหนือของพระองค์เป็นครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2501 ระหว่างที่ประทับอยู่ในเชียงใหม่ พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพพร้อมกับพระราชินีและได้ทรงเป็นประธานเททองหล่อ พระพุทธรูปพระประธาน เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2501 ซึ่งเป็นวันมาฆะบูชาพระพุทธรูปประธานที่เททองหล่อในวันนั้น ยังคงประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถตราบเท่าทุกวันนี้

 
ความเสียหายจากแผ่นดินไหว



          ยอดฉัตรของพระเจดีย์ ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงถึง 2 ครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แกนเหล็กของยอดฉัตรที่สร้างมานาน ตากแดดตากฝนและถูกลมก็ชำรุดผุกร่อน เพราะถูกสนิมกัด
           แผ่นดินไหวครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2532 ทำให้ยอดฉัตรหัก แต่ไม่ตกลงพื้น เพราะมีลวดสลิงมัดรวบไว้อีกชั้นหนึ่ง การซ่อมแซมครั้งนี้ใช้เวลาถึง 2 เดือน
          แผ่นดินไหวครั้งที่ 2 เมื่อเช้ามืดของวันที่ 1 2 กรกฎาคม 2538 เวลา 4.45 น. ลูกแก้วบนยอดฉัตรได้รับความสั่นสะเทือนมากถึงกับหลุดตกลงมาแตกกับพื้น

          เมื่อข่าวความเสียหายนี้ไปถึงสำนักพระรชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงพระราชทานลูกแก้วหลวงลูกใหม่ เพื่อนำไปประดิษฐานบนยอดฉัตรพระเจดีย์แทน พิธีพระราชทานลูกแก้วหลวง ได้จัดขึ้นที่พระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2538 เวลา 15.15 น. และลูกแก้วหลวงนี้ ก็ถูกอัญเชิญขึ้นประดิษ ฐานบนยอดฉัตรพระเจดีย์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2539 เวลา 10.30 น. และมีการฉลองสมโภชยอดพระเจดีย์ไหม่ ในบริเวณแห่งนี้

     องค์พระเจดีย์ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาแห่งหนึ่ง มีชื่อว่า ดอยสุเทพ แต่เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของฤาษี มีนามว่า สุเทวะ เป็นภาษาบาลี มีความหมายว่า เทพเจ้าที่ดี ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่า สุเทพ นั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงได้ ชื่อว่า ดอยสุเทพ ซึ่งมาจากชื่อของฤๅษี คือสุเทวะฤาษี

................................